โปรแกรมแรกที่ทุกคนมักจะเห็น และมักถูกใช้เป็นตัวอย่างของภาษาใดๆ ก็คือ Hello, World! นั่นเอง สาเหตุก็เพราะทุกภาษาควรสามารถติดต่อกับผู้ใช้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องมีการอินพุต และเอาต์พุต สิ่งที่พื้นฐานที่สุดก็คือเอาต์พุตนี่เอง เพราะบางโปรแกรมไม่ต้องรับอินพุตก็ได้
สมมติว่าในกรณีทั่วไปทุกคนมีจอมอนิเตอร์ เพราะฉะนั้น Hello, World! ก็คือการพิมพ์ข้อความออกหน้าจอตามปกตินั่นเอง
#!/usr/bin/env python
print "Hello, World!"
เอาละครับ ข้างบนนี่ก็คือ Hello, World! ในแบบไพธอน บรรทัดแรกนั้นคนที่เคยเขียนโปรแกรมบนยูนิกส์น่าจะรู้จักกันดี เพราะมันก็คือใช้บอกว่าสคริปต์นี้ทำงานด้วยโปรแกรมใดกันแน่ อย่าลืมนะครับไพธอนเป็นภาษาสคริปต์ แปลว่าไม่ต้องคอมไพล์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นอินเตอร์พรีเตอร์ด้วย จริงๆ แล้วไพธอนจะคอมไพล์โค้ดทั้งหมดให้อยู่ในรูปของโค้ดที่สามารถทำงานได้เสียก่อนแล้วจึงเริ่มทำงาน การทำงานตรงนี้เหมือนภาษาจาวาครับ คนที่รังเกียจไพธอนเพราะเกี่ยงว่าเป็นสคริปต์ เป็นอินเตอร์พรีเตอร์ ขอให้ถามตัวเองว่าจาวานั่นเป็นยังไง อย่างจาวาเรียกว่าเป็นคอมไพเลอร์หรืออินเตอร์พรีเตอร์กันแน่ ทุกคนที่เขียนจาวาบอกว่าจาวาเป็นคอมไพเลอร์ทั้งนั้นแหละครับ ซึ่งในความจริงแล้วจาวาก็ทำตัวเป็นทั้งคอมไพเลอร์และอินเตอร์พรีเตอร์ในตัวเดียวเหมือนไพธอนนี่เอง เวอชวลแมชชีนของจาวานี่แหละครับอินเตอร์พรีเตอร์ของแท้ อย่ากระนั้นเลยเดี๋ยวจะหาว่าผมเหยียดภาษา แม้แต่ดอทเน็ตก็ใช้หลักการเดียวกันนี้จนชาชิน
กลับมาที่ Hello, World! กันต่อ คำสั่งที่ใช้ในนี้มีคำสั่งเดียวคือ print คำสั่งนี้เป็นคำสั่งพิเศษ ไม่เชิงเป็นฟังก์ชั่น หรือในอีกมุมนึงมันเป็นฟังก์ชั่นที่อนุญาตให้ไม่ต้องมีวงเล็บครับ ถัดมาคือคำว่า Hello, World! คำนี้เป็นสตริงก์ เพราะฉะนั้นก็ต้องอยู่ในเครื่องหมายฟังหนูซะให้เรียบร้อย มิฉะนั้นไพธอนจะคิดว่าเป็นตัวแปรหรือฟังก์ชั่น