ชนิดข้อมูลพื้นฐาน

ไพธอนมีชนิดข้อมูลหลายประเภท แต่ชนิดข้อมูลธรรมดามีเพียง 3 ชนิดเท่านั้น ได้แก่

  1. จำนวนเต็ม (Integer)
  2. จำนวนจริง (Float)
  3. สตริง (String)

และชนิดข้อมูลแบบซับซ้อนอีก 2 ชนิด

  1. ลิสต์ (List)
  2. ดิกชันนารี (Dictionary)

คำว่าซับซ้อนหมายความว่าข้อมูลเหล่านี้จะประกอบไปด้วยข้อมูลประเภทอื่นอยู่ภายในแล้วแต่การใช้งาน เช่น ลิสต์ของจำนวนเต็ม และดิกชันนารีของสตริง เป็นต้น ลิสต์ในที่นี้หมายถึงอาเรย์ (Array) ในภาษาอื่นนั่นเอง แต่ถ้าแบ่งประเภทใหญ่ๆ จะประกอบด้วย

  1. ตรรกกะ หรือ บูลีน (Boolean)
  2. ตัวเลข
  3. ลำดับ
  4. จับคู่

ตรรกะ หรือ บูลีน

ความจริงแล้วข้อมูลชนิดตรรกะในไพธอนไม่มีอยู่จริง เพราะไม่จำเป็นต้องมีนั่นเอง ส่งที่ไพธอนมีให้นั้นเป็นเพียงค่าคงที่เพื่อใช้แทนตรรกะ จริง และ เท็จ เท่านั้น ได้แก่

  • True - แทนค่าจริง มีค่าเป็น 1
  • False - แทนค่าเท็จ มีค่าเป็น 0

ค่าคงที่เหล่านี้มีใช้ในไพธอนรุ่น 2.2.1 ขึ้นไปเท่านั้น ถ้าต้องการให้ใช้ได้กับรุ่นเก่ากว่านี้ต้องใช้ค่า 1 0 หรือประกาศไว้ใช้งานเอง

ตัวเลข

ชนิดข้อมูลประเภทตัวเลขในไพธอนมีหลายชนิดให้ใช้งาน แล้วแต่กรณี แบ่งตามรูปแบบและขนาดของแต่ละชนิดได้ดังต่อไปนี้

  1. จำนวนเต็ม (Integer)
  2. จำนวนเต็มแบบยาว (Long Integer)
  3. จำนวนจริง (Float)
  4. จำนวนเชิงซ้อน (Complex)

ลำดับ

ไพธอนมีชนิดข้อมูลประเภทลำดับให้เลือกใช้ 3 ชนิด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่นำไปใช้ ได้แก่

  1. สายอักขระ หรือ สตริง (String)
  2. ทูเปิ้ล (Tuple)
  3. ลิสต์ (List)

แต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป สามารถทำมาใช้แทนกันได้ในบางครั้ง แต่สามารถแปลงชนิดได้เมื่อต้องการ

จับคู่

ชนิดข้อมูลประเภทจับคู่ (Mapping) หรือ ดิกชั่นนารี (Dictionary) อาจรู้จักกันในชื่ของ แฮช (Hash) อธิบายสั้นๆ ได้ว่าข้อมูลประเภทนี้คือ อาเรย์ที่ใช้สามารถใช้สตริงเป็นคีย์ (Key) ถึงข้อมูลภายในได้นั่นเอง ปกติอาเรย์จะอ้างถึงข้อมูลเป็นตัวเลข เริ่มตั้งแต่ 0 ถึง n-1 เมื่อ n คือความยาวของอาเรย์

ข้อมูลชนิดนี้ได้รับความนิยมใช้กันมากโดยเฉพาะผู้ที่เขียนเพิร์ล เพราะเก็บข้อมูลแบบโครงสร้างได้ไม่มีตกหล่นและยืดหยุ่นมากๆ ด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะใช้คลาสในเพิร์ลยาก สร้างเองก็ยาก สุดท้ายแล้วทุกคนชินกับการใช้แฮชมากกว่า สะดวกรวดเร็ว

สำหรับไพธอนนั้นข้อมูลแบบนี้อาจไม่สะดวกเท่าเพิร์ลแต่ก็สามารถนำไปใช้ได้ง่ายและรวดเร็วเพียงพอสำหรับงานทั่วไป อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ดิกชั่นนารีพร่ำเพรื่อ เพราะไม่สามารถเพิ่มกลไลการตรวจสอบข้อมูลได้ ทำให้อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างการเขียน ในขณะที่การใช้คลาสในไพธอนง่ายมาก ถ้าข้อมูลต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ควรใช้คลาสครอบดิกชั่นนารีไว้เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเขียนโปรแกรมขนาดใหญ่

หน้าตาของดิกชั่นนารีในไพธอนนั้นจะใช้เครื่องหมาย { และ : ดังตัวอย่าง

{’a’: 1, ’b’: 2, ’c’: 3}

หมายความว่าดิกชั่นนารีนี้มีค่า 3 ค่า ได้แก่ 1 2 และ 3 สามารถเข้าถึงโดยใช้สตริง ’a’ ’b’ และ ’c’ เป็นคีย์ตามลำดับ การเข้าถึงจะใช้เครื่องหมาย [ ] คร่อม เช่น

{’a’: 1, ’b’: 2, ’c’: 3}[’c’]

จะได้ค่าออกมาเป็นจำนวนเต็ม 3