Education Technology in Primary School Part 1

เหมือนว่าพักนี้มีเรื่องที่ไม่ใช่เทคนิควิ่งเข้ามาสู่ชีวิตเยอะเกินไปทำให้เป็นอันต้องหล่นจากหอคอยงาช้างที่มีเวลาเขียนโปรแกรมเยอะๆ ด้วยเหตุว่าได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสโรงเรียนประถมอีกครั้งหลังจากที่เดินออกมาสิบกว่าปี แม้ว่าจะผ่านมานานแต่สภาพการเรียนตอนนั้นผมยังจำได้ไม่เคยลืม เรื่องที่จะพูดวันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเรียน แต่เป็นการรับสมัครนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นขั้นตอนการเริ่มต้นของชีวิตคนหนึ่งคน จุดเริ่มต้นที่แท้จริง หลังจากที่ตอนอนุบาลอยู่กันแบบสบายๆ ครูก็ไม่ได้สอนอะไรมาก แค่เตรียมความพร้อมสำหรับการเรียน

กลไกที่สำคัญที่สุดของการเรียนก็คือ คุณครู ถัดมาคือโรงเรียน เด็ก และผู้ปกครอง ตามลำดับ (อันนี้ความคิดผมไม่ได้อ้างอิงกับอะไรทั้งสิ้น) ผมไม่มีความรู้ด้านการศึกษา ตอนเรียนก็ขี้เกียจเป็นส่วนใหญ่ ตั้งใจเฉพาะวิชาที่ชอบ แต่สิ่งที่ผมได้มาจากการเรียนประถมและมัธยมก็คือ ความสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง และผมก็ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ผมกำลังพยายามคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผมเป็นผมแบบทุกวันนี้ แต่ยังนึกไม่ออก รู้แต่ว่าความสามารถนี้เริ่มเปล่งประกายตอนม.ปลาย หลังจากที่ตอนม.3 คิดอะไรขึ้นมาได้ซักอย่างทำให้ผมรู้จักตัวเองทะลุปรุโปร่ง สาเหตุเดียวที่พอจะนึกได้ก็คือ คุณครู ผมเลยให้ความสำคัญกับคุณครูมากเป็นพิเศษ เวลามีโอกาสไปโรงเรียนที่ไหนก็ตามผมก็จะสังเกตุคุณครูทุกท่านว่าท่านไหนถนัดอะไร สอนอะไร ต้องการอะไร ตามหลักรู้เขารู้เรา เข้าเรื่องกันดีกว่า

เรื่องมีอยู่ว่าผมไปสมัครป.1 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง วันที่ผมไปเป็นวันที่ 2 วันสุดท้ายพอดี คนเยอะมากๆ เท่าที่ดูจากใบสมัครที่อยู่ในมือก็มีเลขที่เกินสามพันไปเยอะแล้ว ผมเดินทางไปแบบมืดแปดด้าน ไม่เคยไปโรงเรียนนั้นมาก่อน ไม่คุ้นทาง ไม่รู้จักใคร เมื่อไม่รู้อะไรเลยผมจึงไปก่อนเวลานัดหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เรียกว่าไปถึงก่อนจะเริ่มรอบแรกด้วยซ้ำ การสมัครจะแบ่งเป็นรอบ รอบละหนึ่งชั่วโมง ผมอยู่รอบที่สอง ต้องยอมรับว่าไม่รู้อะไรเลย แม้ว่าจะมีหนังสือคู่มือการสมัครที่หนาพอประมาณ แต่เนื้อหาข้างในส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยายเกี่ยวกับโรงเรียน สิ่งที่เกี่ยวกับการสมัครมีแค่วิธีกรอก กับขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้

  1. รับบัตรคิว
  2. ตรวจสอบเอกสาร
  3. ยื่นใบสมัคร
  4. ชำระเงิน
  5. ฟังคำแนะนำการมาสอบ
  6. รับเอกสาร

อ่านแล้วเข้าใจแจ่มแจ้ง แต่พอไปถึงผมก็พบกับความอึมครึม มีคนมืดฟ้ามัวดิน นั่งกันเต็มไปหมด คุณครูกำลังประกาศให้ทุกคนนั่ง อย่าพึ่งมารับบัตรคิว โอ๊ะ จบกัน ไม่สามารถทำขั้นตอนแรก ผมมึนทันที แต่ด้วยสัญชาติญาณการเอาตัวรอดและการมาเร็วกว่ากำหนดถึงชั่วโมงครึ่ง ผมก็นั่งสังเกตุไปครึ่งชั่วโมง เดาได้ลางๆ ว่าให้เตรียมเอกสารให้เรียบร้อย รูปต้องตัดให้พอดีขนาด กรอบไม่เอา และทุกคนจะเหน็บรูปไว้กับใบสมัคร เนื่องจากไม่มีที่ให้ติดรูป พอเริ่มจับทางได้ผมก็รีบทำตามทันที เอกสารทั้งหมดก็เอามาเรียงตามที่มีการอ้างถึงในหนังสือคู่มือ แยกตัวจริง และสำเนาออกจากกัน เตรียมทุกอย่างเท่าที่จะจำให้และนั่งรอเวลาที่ระบุในใบสมัครเพื่อรับบัตรคิว ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้สังเกตุวิธีรับบัตรคิว แต่สุดท้ายก็เจอเข้ากับตัวเองแบบเต็มๆ หนึ่งชั่วโมงผ่านไป รับบัตรคิวไปแล้ว 500 คน นับว่าทำเวลาดีใช้ได้ แล้วก็ถึงเวลาของผม เมื่อเริ่มรอบใหม่คุณครูก็บอกว่าให้สองแถวหน้าลุกขึ้นมาต่อแถวรับบัตรคิว ผมก็ยังใจชื้น อีกแค่ 15 ครั้งก็ถึงแถวผมแล้ว ผมไม่มีธุระอะไรเลยไม่รีบร้อน แต่ทันทีทันใดผมก็พบกับเรื่องที่ทำให้ตกใจจนตาเหลือก ทุกคนลุกขึ้นหมด แล้ววิ่งกรูกันไปสองแถวหน้าเพื่อจะได้รับบัตรคิวเป็นลำดับถัดไป ผมตั้งตัวไม่ทันเลยนั่งอยู่ที่เดิมไม่ได้ขยับไปไหน พอถึงรอบถัดไปผมก็ลุกตามบ้าง แล้วเดินขึ้นไปสองแถวเพื่อจะนั่ง ซึ่งมันน่าจะพอดิบพอดี แต่ก็ไม่ใช่อีกแล้ว มีบางคนไม่ได้นั่ง เพราะมีหลายคนวิ่งจากข้างหลัง หรือโผล่มาจากด้านข้างเข้ามานั่งด้วยความเร็วสูงมาก สรุปว่างานนั้นผมได้กลับไปเล่นเก้าอี้ดนตรีในโรงเรียนอีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปนานมากๆ

ในที่สุดก็เข้าสู่หัวข้อเทคโนโลยีการศึกษา ถ้าใครสังเกตุซักนิด นี่คือคิว และมันคือทฤษฏีแถวคอย หรือ Queuing Theory นั่นเอง ตามทฤษฏีบอกไว้ว่าเรามี

  • interarrival time ของสิ่งที่เข้ามาในคิว
  • service time ของคิว

ในที่นี้การรับบัตรคิวเป็นคิว ผู้สมัครคือสิ่งที่เข้ามาในคิว การจัดลำดับงานของคุณครูเป็นแบบ batch คือไปเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2 แถวหรือประมาณ 20 คน จากการที่ผมสังเกตุพบว่า 1 ชั่วโมงส่งคนผ่านคิวได้ประมาณ 500 คน เพราะฉะนั้น service time ของการแจกบัตรคิวจึงมีค่าประมาณ 7 วินาที นับว่าน่าประทับใจ หลังจากขั้นตอนการรับบัตรคิวทุกอย่างจะทำงานเป็น pipeline ปัญหาเดียวที่ผมเจอก็คือ interarrival time ซึ่งมีค่าเกือบจะ 0 เพราะทุกคนกลัวพลาดกำหนดเวลา และทุกคนอยากเสร็จก่อนทั้งสิ้น ผลของการมีค่าเป็น 0 ก็คือคิวของการรอรับบัตรคิวจึงเต็ม นั่นแปลว่าคิวนี้เป็นคิวอิสระอีกคิวหนึ่ง ซึ่งเมื่อผ่านคิวนี้ไปแล้วจะไปเข้าคิวรับบัตรคิวจริงๆ อีกทีในลักษณะ First In First Out อย่างถูกต้องตามหลักการเป๊ะ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ยุติธรรมดี แต่คิวก่อนหน้านั้นนี่แหละที่ผิดพลาด ไม่มีความยุติธรรม ซึ่งปัญหาเกิดจากหลายจุด

  1. นโยบาย - การนำสองแถวแรกออกจากคิวเป็นเจตนาดี และมันคือ FIFO แต่โชคร้ายที่การจัดสถานที่และการประชาสัมพันธ์ไม่เอื้อให้เป็น FIFO

    • ผมมาก่อนเวลาแต่ไม่รู้ว่าต้องนั่งแถวแรกถึงจะได้ออกไปรับบัตรคิว
    • ทางเข้าอยู่ติดกับสองแถวแรก ต่อให้คนที่ไม่อยากแซง แต่เข้ามาก็ต้องหาที่นั่ง ช่วงชุลมุนเล่นเก้าอี้ดนตรีนี่แหละเหมาะแก่การหาที่นั่งที่สุด
  2. ความคาดหวัง - คุณครูคาดว่าผู้สมัครเป็นคนดี ทุกคนควรจะรู้จัก FIFO แต่โชคร้ายอีกตามเคย ผู้สมัครไม่ได้เด็กเล็กๆ ที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ยุคนี้มาก่อนไม่จำเป็นต้องได้ก่อนเสมอไป

  3. สัญชาติญาณการเอาชนะ - ทุกคนอยากจะชนะตั้งแต่ยังไม่เกิด อย่างน้อยทุกคนเคยชนะมาครั้งนึงถึงได้เกิดขึ้นมาบนโลก การได้เข้าไปรับบัตรคิวก่อนก็เป็นสุดยอดปรารถนาของผู้สมัครหลายๆ คนเช่นกัน

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การสมัครในวันนั้นผ่านไปด้วยดี ผมได้เข้าไปเป็นคนเกือบสุดท้ายของรอบ ด้วยเหตุว่าไม่ได้วิ่งตอนเล่นเก้าอี้ดนตรีเลยต้องนั่งรอคิวนานหน่อย ผมมาคิดๆ ดูอีกทีก็พบว่าคุณครูคิดระบบนี้ขึ้นมาด้วยการคิดว่าผู้มาสมัครเป็นเด็กนักเรียน หรืออย่างน้อยก็มีนิสัยเหมือนเด็ก คงเป็นเพราะคุณครูอยู่กับเด็กมานานเกินไป ถ้าผู้ที่มาสมัครวันนั้นเป็นเด็กกันหมด คงไม่ถึงกับเล่นเก้าอี้ดนตรี ถ้าเป็นผมจะไม่ลุกขึ้นเปลี่นเก้าอี้ด้วยซ้ำ เพราะคุณครูไม่ได้สั่งนี่นา คุณครูบอกให้สองแถวแรกลูกขึ้นเฉยๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่จะคิดว่า คุณครูไม่ได้บอกให้นั่งนี่นา

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ระบบที่ใช้กับเด็กได้อาจจะใช้กับผู้ใหญ่ไม่ได้

นิทานเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ ผมยังต้องไปอีกหลายโรงเรียน

อีก 3 ปี

อีก 3 ปี รออ่าน blog ผมเรื่องนี้บ้างนะครับ

อ่านแรกๆ

อ่านแรกๆ งง นึกว่าคุณสุกรีไปสมัครเรียน ป.1 เอง :P แอบสงสัยว่า ถ้าโรงเรียนทำบัตรคิวเยอะๆ แจกตั้งแต่ทางเข้า แล้วเรียกแถวเป็นรอบๆ ไปจะดีกว่าไหม ทำไมต้องจับไปนั้งรอคิว ที่ทำให้ไม่เกิดคิวที่แท้จริงแบบนั้น - หรือโรงเรียนมีความจำเป็นอย่างอื่นครับ ^ ^a

Post new comment