The League of Extraordinary Programming Languages in Thailand
ภาษาสำหรับเขียนโปรแกรมในโลกนี้มีมากมาย แต่ภาษาที่ได้รับความนิยมสูงนั้นมีไม่กี่ภาษา ซึ่งก็มีผลให้ภาษาอื่นที่ไม่ได้รับความนิยมก็ยังคงไม่ได้รับความนิยมต่อไป ในความเป็นจริงแล้ว ทุกภาษามีจุดประสงค์ของตนเอง การเลือกภาษาจึงเป็นเรื่องของความเหมาะสมมากกว่าอารมณ์ และความรู้สึก แต่เอาเข้าจริงการเลือกภาษาสำหรับงานซักงานก็เป็นเรื่องของ The One ที่มีอำนาจตัดสินใจ ถ้าเป็นงานส่วนตัวคุณก็คือ The One แต่โชคร้ายงานส่วนตัวมักจะไม่ใช่งานทำเงิน สุดท้ายก็มี The One มาเลือกภาษาให้เสร็จสรรพ ภาษาที่เลือกมาแต่ละทีก็มักเป็นภาษาที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จัก ยกตัวอย่างเช่น PHP Java และ C# ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร นี่เรียกว่า ทีใครทีมัน หรือ ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย ตรงตามหลักการเป๊ะ ถ้าทำงานประจำแล้วต้องทำตามการตัดสินใจของ The One แล้วเก็บกดก็จงกลับบ้านมาเขียนโปรแกรมด้วยภาษาที่ชอบซะ ยิ่งถ้าอยากให้คนอื่นหันมารู้จักภาษา นั้นกับเราด้วยก็ต้องแจกโค้ดของเราซะบ้าง นี่ไม่ใช่การเผยแพร่ลัทธิหรือศาสนาอะไรทั้งสิ้น เพราะเราทำสิ่งที่ชอบ ไม่ได้บังคับให้ใครทำตาม ถ้ามีคนเห็นว่าเราทำดี เค้าอยากทำบ้างก็ไม่แปลกอะไร มีคนบอกว่าภาษาพวกนี้เรียกว่า ภาษานอกกระแส (mk rawitat) มันก็ใช่อยู่ แต่ผมไม่อยากให้คิดว่ามันเป็นแค่ทางเลือกซักเท่าไหร่ ฟังดูแล้วเหมือนมีความสำคัญน้อยไปนิด เลยขอเรียกเป็น Extraordinary ดีกว่า ฟังแล้วดูยิ่งใหญ่ดี จะได้ไม่ด้อยกว่าภาษาอันโด่งดังทั้งหลาย ช่วงนี้กำลังมีการระดมพลของผู้ที่มีภาษาแปลกๆ ในดวงใจ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกันเลยต้องเขียนถึงซะหน่อย
จริงๆ แล้ว mk ก็เคยชี้ประเด็นประมาณนี้มาหลายที ด้วยเหตุที่ผมเอียงไปทาง Python ซะจน ออกนอกหน้ามานานแล้ว ถ้ามีใครถามว่าจะเขียนด้วยอะไรก็ตอบ Python มาเสมอ งานอะไรๆ ที่ต้อง ทำเองก็จะพยายามบอกให้ใช้ Python หรือแม้แต่คนอื่นทำก็แนะนำ Python ไม่เลือกไม่ว่าลองแล้วจะติดใจ ด้วยเหตุผลเพียงข้อเดียวก็คือ มันสวย ความสวยเป็นเรื่องสำคัญเรื่องนึงซึ่งทำให้ได้ประโยชน์มากมายตามมา ถ้าใครสังเกตุซักนิดจะพบว่าโค้ดดีๆ มักจะสวย เหมือนอ่านกลอน พอผมมาพบ Python (เนื่องจาก The One ในตอนนั้นแนะนำให้ลองศึกษา เผื่อว่าจะได้มีโอกาสใช้ในอนาคต) ผมก็พบว่าความจริงที่ว่าโค้ดดีมักสวยนี้ มีผลในทางกลับกันค่อนข้างน่าสนใจ นั่นก็คือ โค้ดสวยมักดี ปัญหาเรื่องโค้ดสวยมักเกิดกับนักพัฒนา มือสมัครเล่น โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาที่ทำการบ้านแบบขอไปที เขียนไปเรื่อยไม่สนอะไรทั้งนั้น ไม่สนแม้กระทั่ง indent ถ้าไปทักเข้าหน่อยก็จะตอบว่า เอาให้เวิร์คก่อน แล้วค่อยแก้ให้สวยทีหลัง สุดท้ายร้อยทั้งร้อยถึงเวลาส่งแล้วก็อาจจะยังไม่เวิร์ค หรือถ้าโชคดีเวิร์คก็ไม่กล้าทำให้สวย เพราะกลัวจะ ไม่เวิร์คเอาซะงั้น Python จึงเหมาะสำหรับการเขียนเป็นภาษาแรกมาก เพราะเขียนยังไงก็สวย เขียนไปนานๆ ก็จะติดนิสัยใส่ indent ไปเองน่ะแหละ นี่เป็นทฤษฎีส่วนตัวของผมเอง ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ อยากรู้ต้องลองเอง ได้ผลยังไงอย่าลืมมาบอก
ดูจากกระแสตอนนี้ ภาษานอกกระแส กำลังมาแรงเพราะอยู่ๆ ก็มีตัวละครใหม่ที่มีประชาสัมพันธ์ดีมากๆ โผล่ขึ้นมาบนโลก ซึ่งก็คือ Ruby และ Ruby on Rails นั่นเอง ผมเห็น RoR มานานแล้ว เห็นกี่ทีก็อิจฉาทุกครั้งไป ทำไม Python ไม่มีแบบนี้บ้างหนอ RoR มีทุกอย่างที่ผู้พัฒนาโปรแกรมบนเว็บต้องการ โดยเฉพาะ AJAX ที่เห็นกี่ทีก็น้ำลายไหลย้อยอยากมีแบบนี้กับเค้าบ้าง ขณะที่ Python ดันมีศึกแบ่งแยกดินแดน ซึ่งไม่ค่อยจะเจอเท่าไหร่ โชคร้ายก็คือดินแดนที่ถูกแบ่งออกมาดันมีข้อดีข้อเสียที่ไม่สามารถชนะกันได้ แบบเอกฉันท์ ถ้าเอามาสู้กันให้ตายไปข้าง สุดท้ายก็คงกลายเป็นเสมอ หรือตายทั้งคู่ ที่สำคัญก็คือไม่มีตัวไหน สนใจ AJAX กันออกนอกหน้าเหมือน RoR ซักตัว จนมีบางครั้งแทบจะน้อยใจหันไปเขียน RoR ใหม่ทั้งตัวด้วย Python ซะหลายทีแล้ว สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกความคิด เพราะไม่ได้มีชีวิตอยู่กับการเขียนเว็บมากขนาดนั้น
โดยส่วนตัวผมอยากเผยแพร่ภาษา Python ให้เป็นที่รู้จักขจรขจายไปให้ทั่วโลก ตามหลักการก็ต้องเริ่มจาก ตัวเอง แพร่ไปยังคนรอบข้าง เคยประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อตอนสามารถกล่อมศรีภรรยาให้เขียน Python อยู่ตั้ง 6 เดือน แม้ตอนนี้ไม่ได้เขียนแล้ว เพราะเปลี่ยน The One มาได้ซักพัก แต่ก็ยังมีความทรงจำที่ดี ค้างไว้ในสมองส่วนลึก ช่วงนี้กระแสกำลังถูกปลุกโดยกลุ่มคนผู้คลั่งไคล้ภาษาสุดพิเศษ หลายๆ ตัว ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เท่าที่รู้สึกด้วยตัวเองโดยที่ไม่ได้ไปสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลเป็นพิเศษนะ ดูเหมือนว่า Python จะได้รับความนิยมในประเทศไทยระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็มีคนจบบัณฑิตศึกษาด้วย Python ไม่น่าจะ ต่ำกว่า 5 คนในรอบ 5 ปี สำหรับผมนับว่ามากโข เพราะไม่มีหนังสือภาษาไทย ตอนนี้เจอแล้ว 1 เล่ม ยิ่งแสดงให้เห็นว่ามีคนใช้มันจริงๆ จังๆ ในไทยไม่ถึงกับเปลี่ยวเหงา mk มาถามถึงชุมชน Python ทีไรผมก็จะตอบว่ามันมีอยู่แหละ อย่างน้อยก็ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทีเดียว แต่สุดท้ายผมก็ตอบไม่ได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้อยู่ที่ไหน จะรวมกลุ่มกันได้ยังไง พูดง่ายๆ ที่ผ่านมาเรามี ศิลปินอิสระที่จัดคอนเสิร์ตส่วนตัวกันไม่ใช่น้อย แต่ไม่เคยเอามาเล่นวงเดียวกันร้องเป็นบอยแบนด์ อยู่แบบนี้มันก็ดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดแน่ๆ ในทางกลับกันการสร้างชุมชนแบบสุดโต่งพวก Thai Python User Group ก็ดูจะเกินไป เหมือนจะเป็นลัทธิมากกว่า เอาหลายๆ ภาษาที่คนส่วนใหญ่มองข้ามมาอยู่ด้วยกัน ก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่เหงา เผื่อจะได้สุมหัวกันทำ Kata บ้าง และที่สำคัญที่สุด เผื่อว่า The One ของเราหลายๆ คนอาจจะเห็นข้อดีที่แอบซ่อนอยู่ในภาษาพิเศษเหล่านี้บ้างไม่มากก็น้อย
เท่าที่ดูตอนนี้จะมีภาษาที่เข้าข่ายหลายตัว เช่น Ruby Python SmallTalk Erlang Haskell และที่ขาดไม่ได้ Objective-C ผมยกให้ Ruby เป็นพระเอกเพราะเค้ามี RoR เป็นประชาสัมพันธ์ชั้นดี แต่เรื่องชื่อนี่ตอนนี้ ทับทิมไทย กำลังมาแรง ผมไม่ขัด แค่รู้สึกแปลกๆ นิดหน่อยตรงที่มันไม่อินเตอร์น่ะ และมันก็เป็นคำที่แคบไปนิด ยังมีภาษาอื่นอีกเพียบที่ไม่เกี่ยวอะไรกับทับทิม ตอนนี้ตัวเลือกที่มีคนเสนอก็มี
- tubtimthai.com
- developers.in.th
- developer.in.th
- dev.in.th
- coders.in.th
ผมโหวต dev.in.th ละกันครับ สั้น ง่าย กว้าง แม้ว่าจะไม่สื่อถึงความเป็นภาษาอันแสนจะพิเศษก็ตามที
Tags: programming language, community
- sugree's blog
- 2821 reads
python community
PyCon 2007
กำลังศึกษาเหมือนกันคร
Post new comment