Education Technology in Primary School Part 3

ผ่านมาแล้วสองตอนสำหรับการสมัครเรียนประถมศึกษาปี่ที่ 1 ของเด็กคนหนึ่ง (ตอน 1 และตอน 2) ซึ่งเป็นบรรยากาศของการยื่นใบสมัคร ตอนแรกก็นึกว่าผ่านส่วนที่ยากที่สุดไปแล้ว แต่เอาเข้าจริง ผมก็คาดผิดจนได้ ขั้นตอนที่โหดมหาหินที่สุดมันพึ่งเริ่ม คราวนี้เราจะมาวิเคราะห์กันในเรื่องเทคโนโลยีที่แฝงอยู่ในวันสอบจริงกันบ้าง

มาถึงขั้นนี้คงเดากันได้ว่าสถานการณ์ต้องเลวร้ายแน่ๆ เพราะผมเกริ่นไว้ซะน่ากลัว ซึ่งมันก็แย่จริงๆ ตอนยื่นใบสมัครเราสามารถใช้ระเบียบวิธีมากมายเพื่อกระจายคนลงไปในช่องของเวลาเพื่อจำกัดจำนวนผู้ที่รอ ทั้งนี้ได้ประโยชน์มากมาย ตั้งแต่ไม่เบื่อ จนถึงขนาดของพื้นที่ที่ต้องจัดเตรียม วิธีเหล่านี้ไม่สามารถนำมาใช้ในวันสอบได้ เพราะทุกคนต้องมาพร้อมกัน จะเกลี่ยตามเวลาไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด

ในตอนนี้ผมจะพูดถึงโรงเรียนในตอนที่ 2 กันก่อน วิธีที่เค้าใช้ค่อนข้างน่าประทับใจตามเคย ผมพอจะสังเกตุวิธีได้ดังนี้

  1. ปิดให้บริการห้องน้ำ และขอสุขาเคลื่อนที่มา 2 คัน
  2. เตรียมพื้นที่ขนาดใหญ่มากกลางสนามฟุตบอลพร้อมเต็นท์และบ้านบอกหมายเลขห้อง
  3. ภายในเต็นท์จะมีเก้าอี้วางอยู่เรียงกันเป็นแถว แถวละ 7 ตัว ห้องละ 5 แถว รวมแล้วมีเด็ก 35 คนต่อห้อง
  4. เมื่อถึงเวลานัดหมายจะมีคุณครูประจำห้องเดินมาเรียกเด็กจากหมายเลขตามลำดับให้มานั่งเรียงกัน ส่วนผู้ปกครองก็ต้องออกมายืนรอด้านข้างตามระเบียบ
  5. ผู้ปกครองจะได้ใบรับนักเรียน 1 ใบต่อนักเรียน 1 คน
  6. เมื่อถึงเวลาขึ้นห้องสอบ คุณครูจะพาเด็กออกมายืนเรียงกันทีละแถว และจัดแถวใหม่เป็นการเดินเป็นคู่ และพาเดินขึ้นห้องสอบ

ฟังดูดี แต่เอาเข้าจริงแล้วยังมึนๆ นิดหน่อย ยกตัวอย่างเช่น

  1. คุณพ่อคุณแม่หลายท่านพาลูกมารอเช็คชื่อ เมื่อเช็คชื่อแล้วก็ขออนุญาตคุณครูไปเข้าห้องน้ำ คุณพ่อคุณแม่ฉลาดมาก ใช้เวลาได้คุ้มค่าที่สุด แต่ก็ทำให้คุณครูงง แต่คุณครูรู้แล้วว่ามา ก็เลยต้องรอจนถึงเวลาสุดท้ายจริงๆ ถ้าไม่เดินต้องโดนครูปกครองดุแน่ๆ ผมคิดว่าผู้ปกครองควรรักษาเวลาและไม่ทำอะไรแปลกๆ แบบนี้
  2. คุณครูเช็คชื่อโดยการเรียกหมายเลขของเด็ก ดูไปก็ปกติ แต่หมายเลขในบัตรนั้นจะมีอยู่ 5 หลัก

    AAABB
    

    ซึ่ง 3 หลักแรก AAA คือหมายเลขห้อง ส่วน 2 หลักหลัง BB คือหมายเลขภายในห้อง ตั้งแต่ 01 ถึง 35 เด็กงงแน่ๆ ผู้ปกครองหลายคนก็งง ไม่รู้ว่าคุณครูกำลังเรียก การเช็คชื่อตอนแรกเลยมีอาการขลุกขลักนิดหน่อย

  3. เนื่องจากคุณครูใจดี คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงลูกมาก และอากาศร้อน ผมเลยพบกับเหตุการณ์ประเภท "พ่อแม่รังแกฉัน" พอประมาณ ยกตัวอย่างเช่น มีคุณแม่ท่านหนึ่งเห็นลูกนั่งรอจนเหงื่อไหลไคลย้อย ด้วยความสงสารก็เลยหาน้ำให้กินแก้กระหาย ซึ่งมันก็แก้ได้ชะงัดนัก แต่มีผลข้างเคียงนิดหน่อย ผมเดาได้ว่าต้องขอเข้าห้องน้ำระหว่างสอบแน่ๆ เห็นกินไปเกือบหมดขวด กับอีกกรณีคล้ายๆ กัน ร้อนจนเหงื่อไหล คุณแม่สงสารเลยเอามือมาปาดเหงื่อให้ ปาดแล้วปาดอีก ยิ่งปาดยิ่งไหล โชคร้ายไปนิดที่คุณลูกก็ปาดเองเหมือนกัน ด้วยความโชคร้ายถึงขีดสุด หัวลูกขยับตามการปาดของลูกเอง ทำให้ดวงตาไปประสานงาเข้ากับมือของคุณแม่ ผลก็คือนอกจากเหงื่อแล้วลูกยังมีน้ำตาไหลออกมาอีกด้วย

มาว่ากันต่อ หลังจากเด็กขึ้นห้องสอบไปแล้ว ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะปักหลักรออยู่แถวสนามฟุตบอลนั่นแหละ ใต้ตึกสอบเข้าไม่ได้ บางคนก็อยู่ในเต็นท์ บางคนก็ออกมาเดินเล่นข้างนอก บางคนก็หาตึกว่างๆ นั่งหลบแดดรอเวลาสอบเสร็จ ผมก็หลบไปอยู่นอกโรงเรียนและกลับมาตอนถึงเวลานัดหมาย ณ เวลานั้นเองผมก็นึกถึงความโกลาหลได้ เช็คชื่อตอนเช้าไม่ยากเท่าไหร่ เพราะมีการจัดเก้าอี้ไว้แล้ว แต่ละคนจะมาถึงโรงเรียนไม่พร้อมกัน แต่ตอนรับกลับบ้าน ผู้ปกครองทุกคนรออยู่ภายในโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว วิธีที่โรงเรียนใช้ก็คือ

  1. บังคับให้ผู้ปกครองนั่งรอในเต็นท์ ในตำแหน่งห้องของเด็กโดยการบอกว่าจะส่งเจ้าหน้าที่มาพาไปรับเด้กในจุดที่ถูกต้อง ไม่มีการประกาศออกเครื่องขยายเสียงกลาง
  2. กระจายเด็กให้ลงจากห้องสอบหลายช่องทาง
  3. ผู้ปกครองต้องนำใบรับเด็กมาคืนให้กับคุณครูประจำห้องในจุดที่กำหนดไว้เพื่อรับเด็กกลับบ้าน

วิธีนี้เหมือนจะไม่มีข้อผิดพลาด แต่สุดท้ายก็มั่วจนได้ เนื่องจากผู้ปกครองคิดถึงลูกมาก เมื่อเห็นห้องใกล้เคียงเดินไปทางใดก็จะแห่กันเดินตาม โดยอาศัยการสังเกตุจากการขึ้นห้องสอบของลูกหลาน เพราะคิดว่าขึ้นทางไหนลงทางนั้นนั่นเอง ผลของความมั่วนี้ทำให้มีปริมาณผู้ปกครองเข้าไปในเขตรับเด็กเป็นจำนวนมาก และทำให้ขั้นตอนการรับเด็กกลับบ้าน สับสนอลมานมากถึงมากที่สุด เท่าที่ผมได้ยินแว๊บๆ รู้สึกว่าจะมีเด็กหายหนึ่งคน พ่อแม่มารับแต่หาเด็กไม่เจอ ไม่รู้ว่าเป็นยังไงบ้าง

Post new comment